ยุคสมัย ถมนคร – ประวัติ และผลงาน ช่างถมเมืองนคร

เครื่องถมเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่คนไทยภาคภูมิใจ ในฐานะเป็นประดิษฐกรรมอันเกิดจากความประณีตและความติดสร้างสรรค์ของคนไทยที่สั่งสมมานานกว่า 500 ปี โดยมีแหล่งกำเนิดจากนครศรีธรรมราช เครื่องถมรูปพรรณต่าง ๆ เช่น แหวน กำไล ล็อกเก็ต มีด กล่องใส่ไม้จิ้มฟัน เครื่องเชี่ยน ขันน้ำ พานรอง หีบทองลงยา ซองบุหรี่ ดาบฝักทอง นอกจากเป็นเครื่องประดับและเครื่องใช้ประจำบ้านของผู้มีฐานะแล้ว ยังกลายเป็นของที่ระลึกหรือเครื่องราชบรรณาการ สำหรับมอบแด่ราชอาคันตุกะของพระมหากษัตริย์ไทยมาหลายรัฐสมัย นี่คือผลงานของช่างถมฝีมือเอกแห่งนครศรีธรรมราช ที่ชาวเมืองภาคภูมิใจมาโดยตลอด ทุกครั้งที่กล่าวถึงเครื่องถม

ถ้าหากสืบสาวไปถึงประวัติ และผลงานของช่างถมในนครศรีธรรมราชแล้ว เราจะพบว่าช่างถมในนครศรีธรรมราชมีจำนวนมาก ผลงานของช่างถมเหล่านี้มีปรากฏอยู่เป็น 5 ยุค
เครื่องถมทอง
ยุคแรกเริ่ม
ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่านครจะได้รับการถ่ายทอดความรู้วิชาการทำเครื่องถมมาจากแหล่งใด บ้างก็เชื่อว่าได้รับความรู้มาจากชาวโปรตุเกสที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับชาวนครในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ในราว พ.ศ.2061 บ้างก็เชื่อว่าชาวนครได้ประดิษฐ์สร้างสรรค์รูปแบบและคิดค้นเทคนิคการทำถมขึ้นเอง เพื่อใช้สอยกันในครัวเรือนหรือในชีวิตประจำวัน จากนั้นจึงได้พัฒนาฝีมือจนกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น ยุคนี้ถือเอา พ.ศ.2061 เป็นปีเริ่มต้นยุค

ไม่มีหลักฐานหรือร่องรอยใดอันแสดงให้เห็นว่าผลงานเครื่องถมนครแต่ละชิ้นในอดีตเป็นฝีมือของช่างคนใดหรือสกุลใด รู้แต่เพียงว่าผลงานเหล่านี้มาจากช่างฝีมือนิรนามชาวนครศรีธรรมราช เป็นผลงานที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อใช้สอยในชีวิตประจำวันเป็นหลักความงามที่ปรากฏมิได้เกิดจากความประสงค์ส่วนตัวของช่างถมเพื่อแสดงออกทางศิลปะแต่คงมาจากความเพียรพยายามของช่าง ที่ได้ฝึกฝนและผลิตงานนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายชั่วคนจนกลายเป็นงานศิลปหัตถกรรมชั้นสูง ที่สะท้อนลักษณะพิเศษเฉพาะถิ่นหรือเอกลักษณ์ของถิ่นกำเนิด

ยุคก้าวเดิน
เป็นยุคที่ช่างถมในนครศรีธรรมราชได้พัฒนาฝีมือขึ้นถึงระดับ “ศิลปหัตถกรรม” โดยถือเอา พ.ศ.2200 เป็นปีเริ่มต้นยุคในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้กล่าวว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีรับสั่งให้เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชจัดหาช่างถมที่มีฝีมือ เข้ามาทำเครื่องถมเพื่อส่งไปถวายเป็นราชบรรณาการแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งประเทศฝรั่งเศส และในเวลาไล่เลี่ยกันก็โปรดเกล้า ฯ ให้ช่างถมชาวนครทำการเขนถมเพื่อให้ราชทูตไทยนำไปถายโป๊ป ณ กรุงโรม ยุคนี้จึงถือได้ว่าเป็นยุคก้าวเดินของเครื่องถมและช่างถมเมืองนครโดยแท้

ยุคราชสำนัก
ช่างถมชาวนครได้พัฒนางานถมมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ถือได้ว่าผลงานเครื่องถมได้กลายเป็นเครื่องราชูปโภคประจำราชสำนักโดยมีเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นกำลังสำคัญในการอุปถัมภ์ช่างถมและเป็นกำลังหลักในการพัฒนาลวดลายฝีมือช่างถมในยุคนี้

เจ้าพระยานคร (น้อย) เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชลำดับที่ 3 ในสมัยรัตนโกสินทร์ นอกจากจะมีฝีมือทางการรบทัพจับศึกแล้วยังเป็นช่างทำเรือกำปั่นและช่างทำเครื่องถมฝีมือดี มีหลักฐานว่าเจ้าพระยาผู้นี้ได้เคยทำพระแท่นที่เสด็จออกขุนนาง และทำพระเสลี่ยงถวายสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

เจ้าพระยานคร (น้อยกลาง) เจ้าเมืองนครลำดับที่ 4 เป็นผู้อุปภัมภ์ช่างถมคนสำคัญในนครศรีธรรมราช เล่ากันมาว่าเจ้าพระยาผู้นี้ได้ชักชวนช่างถมหลายคนเข้าไปอยู่ในวัง เพื่อสร้างงานถมขึ้น มีหลักฐานว่าช่างเหล่านี้ได้ร่วมกันทำพระเก้าอี้ถมอนุโลมจากพระแท่นและพนักเรือพระที่นั่ง เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม) เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ลำดับที่ 5 ขณะดำรงค์ตำแหน่งพระยานครศรีธรรมราช ได้เป็นแม่กองให้ช่างถมนครทำพระที่นั่งพุดตานถม (ซึ่งตั้งไว้ในท้องพระโรงกลาง) ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงสร้างพระที่นั่งจักรีมหาประสาทในพระบรมมหาราชวัง

อนึ่ง แม้ในสมัยปัจจุบัน ช่างถมนครก็ยังได้รับความไว้วางใจให้สร้างผลงานสู่ราชสำนัก ดังเช่นกรณี นายสันต์ เอกมหาชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเคยเป็นผู้ประสานงานจัดหาช่างถมฝีมือดีในนครศรีธรรมราชจัดทำเครื่องถม 3 รายการเพื่อถวายแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน

ยุคโรงเรียนช่างถม
ในขณะที่ช่างถมรุ่นเก่าเริ่มล้มหายตายจากไปปีละคนสองคน พระรัตนธัชมุนี (ม่วง รตนธโช) เจ้าอาวาสวัดท่าโพธิ์ ในฐานะผู้อำนวยการการศึกษามณฑลนครศรีธรรมราชก็ได้จัดตั้งสถาบันฝึกวิชาทำเครื่องถมขึ้นในวัดท่าโพธิ์ ตำบลท่าวัง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อ พ.ศ.2456 เรียกว่า “โรงเรียนช่างถม”โดยใช้เงินนิตยภัตที่ท่านเจ้าคุณได้รับพระราชทานมาจ่ายเป็นเงินเดือนแก่ช่างถม กิจการของโรงเรียนดำเนินมากระท่อนกระแท่นหลายปี จนกระทั่งกระทรวงศึกษาธิการเห็นความสำคัญของศิลปหัตถกรรมด้านนี้จึงรับโรงเรียนนี้ไว้เป็นโรงเรียนรัฐบาลได้พัฒนาทั้งอาคารสถานที่ บุคลากร และหลักสูตรจนในที่สุดกลายเป็นวิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราชที่มั่นคงอยู่ในปัจจุบันนี้

ยุคพื้นฟูวัฒนธรรม
ด้วยเหตุที่ค่านิยมการเรียนวิชาชีพหรืออาชีวศึกษาในยุคก่อนไม่เป็นที่นิยมของเด็กและผู้ปกครองจึงทำให้จำนวนช่างถมในนครศรีธรรมราชค่อย ๆ ลดลงประกอบกับผลิตภัณฑ์เครื่องถมมีราคาแพง การประกอบอาชีพช่างถมจึงเริ่มถึงทางตัน

รัฐบาลเริ่มให้ความสำคัญต่องานวัฒนธรรม โดยการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ(สวช.) ขึ้นในปี พ.ศ.2522 หน่วยงานนี้ได้ให้ความสำคัญต่อช่างและศิลปินผู้ผลิตหรือประกอบกิจกรรมทางวัฒนธรรม โดยการจัดทำโครงการเชิดชูเกียรติผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมสาขาต่าง ๆ เป็นประจำทุกปี

ด้วยหลักการและเหตุผลของโครงการนี้ ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช (สถาบันราชภัฎนครศรีธรรมราชปัจจุบัน) จึงได้สรรหาบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นด้านเครื่องถมในจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติซึ่งผลปรากฏว่ามีช่างถม 2 คนที่ได้รับการพิจารณาให้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ” และ “ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม” คือ นายเห้ง โสภาพงค์ และนายชุ่ม สุวรรณทิพย์ ตามลำดับ

credit- www.tungsong.com