ถมเงิน ถมทอง เครื่องถมเมืองนครศรีธรรมราช เครื่องถมนคร เป็นหัตถกรรมสำคัญของนครศรีธรรมราชที่มีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักแพร่หลายมาแต่อดีต มี ๒ ชนิด คือ
ถมเงิน หรือ ถมดำซึ่งจะมีลวดลายเป็นสีขาว(สีเงิน) พื้นเป็นสีดำ และถมทอง หรือ ถมทาทอง ซึ่งจะมีลวดลายเป็นสีทองพื้นเป็นสีดำ
๑. การทำถมเงิน
๑.๑) การทำน้ำยาถม เป็นหัวใจสำคัญในการทำเครื่องถม ลักษณะเด่นเป็นเอกลักษณ์ของยาถมของช่างนคร คือ มีลักษณะแข็ง สีดำเป็นนิล ขึ้นเงา ประกอบด้วยโลหะ ๓ ชนิด คือ ตะกั่ว ทองแดง และเงิน ตำราถมโบราณท่านมีไว้ว่า “วัว ๕ ม้า ๖ บริสุทธิ์ ๔ ผสมกันแล้วขัดด้วยกำมะถัน ได้ยาถมแล”
๑.๒) การทำรูปพรรณ หรือ การขึ้นรูปให้ได้รูปทรงตามต้องการ เช่น สร้อย แหวน กำไล ขัน เป็นต้น วัตถุดิบสำคัญที่ต้องใช้ คือ เนื้อเงินบริสุทธิ์ร้อยละ ๙๒.๕ และทองคำบริสุทธิ์ร้อยละ ๙๙.๙๙
๑.๓) การเขียนและแกะลาย การวาดภาพหรือลวดลายลงบนภาชนะที่ขึ้นรูปเสร็จแล้ว และลงมือแกะสลักด้วยสิ่ว
๑.๔) การลงยาถม คือการนำยาถม ถมลงในร่องที่แกะลาย ใส่จนเต็มร่อง แล้วเกลี่ยให้เสมอกันทุกส่วน จากนั้นใช้ไฟเป่า หรือเรียกว่าวิธี “เป่าแล่น” ลงบนภาชนะนั้น รอให้เย็นแล้วใช้ตะไบถูบนส่วนที่ไม่ต้องการให้มียาถมนั้นออกไปให้เห็นเนื้อเงินที่พื้น ซี่งเรียกว่า “พื้นขึ้น”
๑.๕) การปรับแต่งรูป ในขั้นตอนลงยาถม จะต้องใช้ไฟด้วยความร้อนสูงเพื่อเผาภาชนะอยู่เป็นเวลานานพอสมควร อาจทำให้ภาชนะบิดเบี้ยว ขั้นตอนนี้จึงจำเป็นต้องปรับแต่งรูปทรงให้คงสภาพเดิมอีกครั้ง และแต่งผิว/ขัดผิวของภาชนะด้วยกระดาษทรายละเอียด เมื่อผิวเกลี้ยงแลดูเงาสวยแล้วจึงขัดด้วยยาขัดโลหะ จากนั้นนำไปล้างทำความสะอาดแล้วเช็ดให้แห้ง
๑.๖) การแกะผิวและแกะแร วิธีการแกะผิวแกะแรหรือการเพลาลาย ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดก็ว่าได้ เพราะจะช่วยให้รายละเอียดของลายบนภาชนะมีความโดดเด่นขึ้น ขึ้นเงา ต้องแสงเป็นประกายสวยงาม โดยขั้นตอนนี้ต้องอาศัยฝีมือ ประสบการณ์ และความชำนาญของช่าง
๑.๗) การขัดเงา เป็นการทำความสะอาด ขัดเงา โดยการเช็ดกับผ้าที่นุ่มๆ ให้สะอาดและขึ้นเงาสวยงาม
๒.การทำถมทอง หรือ ถมตะทอง
การถมทองเป็นการทำให้เครื่องถมมีคุณค่าสูงขึ้นกว่าถมเงินธรรมดา ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องอาศัยฝีมือช่างที่ชำนาญและมีประสบการณ์อย่างมาก โดยในขั้นตอนที่ ๑ – ๔ ใช้วิธีการเดียวกับการทำถมเงิน แต่เมื่อเสร็จขั้นตอนที่ ๔ คือ ลงยาถมและขัดยาถมส่วนเกินออกแล้ว ในส่วนของการทำถมทองจะเพิ่มวิธีการทาทอง หรือเรียกว่า “การเปียกทอง” เป็นการนำทองคำแผ่นบริสุทธิ์ ๙๙.๙๙ บดจนเป็นผงแล้วเทปรอทบริสุทธิ์ลงไปผสมกับผงทอง บดด้วยครกหินจนผสมเป็นเนื้อเดียวกัน และใช้สำลีชุบทองเปียกถูบนภาชนะ เมื่อทาทองผสมปรอทเสร็จแล้วจึงนำไปตากแดดให้แห้งหรืออบด้วยความร้อนอ่อนๆบนเตา ประมาณ ๓ – ๔ ครั้ง และครั้งสุดท้ายใช้ความร้อนสูงกว่าเดิม เมื่อปรอทระเหยออกหมด ก็จะเหลือแต่เนื้อทองเคลือบติดแน่นบนภาชนะ นำไปขัดเงาให้ผิวทองเกลี้ยงใสขึ้น ถือเป็นอันเสร็จขั้นตอนการทาทอง จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอน ที่ ๕ – ๗ เช่นเดียวกับการทำถมเงิน
ในปัจจุบันเครื่องถมไม่ได้มีใช้กันเฉพาะชั้นเจ้านายชั้นสูงเหมือนในอดีต แต่มีการปรับเปลี่ยนให้ร่วมสมัยขึ้นเพื่อให้เข้าถึงคนทุกช่วงวัย โดยการทำเป็นของชิ้นเล็ก เช่น ต่างหู แหวน ที่ติดผม ล๊อกเกต กำไล จากการทำถมนครสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน การได้รับการทำนุบำรุงจากพระมหากษัตริย์ในยุคสมัยต่างๆ นับเป็นเป็นระยะเวลาหลายร้อยปี รวมถึงมีการพัฒนาฝีมือการออกแบบลวดลายให้วิจิตรสวยงาม ด้วยลวดลายที่ยังคงแสดงถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย จึงถือว่างานเครื่องถมเป็นงานที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้คู่คนไทยสืบต่อไป
ที่มา – กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช