ลายของเครื่องถม ถมเงิน ถมทอง
ลายเครื่องถมเป็นรูปแบบทางทัศนศิลป์ประเภทหนึ่ง ประกอบด้วยเส้นเป็นสำคัญต่อเนื่องกันไป มีทั้งลายแบบธรรมชาติ และลายแบบประดิษฐ์ โดยลายเครื่องถมมี 9 แบบ คือ
1. ลายกนกเปลว มีลักษณะลวดลาย เลียนแบบธรรมชาติจากเปลวไฟ
2. ลายใบเทศ มีลักษณะเป็นช่อ มีก้าน กาบ ดอก ใบ สามารถนำมาต่อลายอื่นได้
3. ลายประจำยาม มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านเท่า ภายในแบ่งเป็นดอกสี่กลีบ มีเกสรอยู่ตรงกลาง
4. ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ มีลักษณะเป็นทรงพุ่มคล้ายหยดน้ำ
5. ลายกระจังมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ใช้ตามขอบริมฐานของชิ้นงาน
6. ลายก้านขด เป็นการนำลายต่างๆ มาเขียนลายต่อเนื่องกันเป็นเถา
7. ลายบัวคว่ำบัวหงาย มีลักษณะเป็นรูปกลีบบัว นิยมใช้ประกอบฐานของรูปพรรณ
8. ลายเม็ดบัว มีลักษณะหลายแบบ ได้แก่ กลม รี มักใช้ต่อเนื่องเป็นเส้น
9. ภาพประกอบลาย มีลักษณะเป็นภาพแบบต่างๆ นำมาใช้ประกอบลาย
โดยการวางลาย รูปแบบของลาย การนำลายมาประกอบขนาดและจำนวนลายให้ได้รูปแบบสวยงามเหมาะกับรูปทรงภาชนะ ซึ่งลายมีความเกี่ยวข้องกับ ประเภทของภาชนะ เช่น ลายใบเทศ ลายกระจังตาอ้อย และลายบัวคว่ำ ปรากฏในของใช้ในครัวเรือนมากกว่าภาชนะประเภทอื่น ลายกนกเปลวพบมากในเครื่องประดับ และลายเครือเถาพบมากในของใช้ทั่วไป ลายกับรูปแบบของเครื่องถมเป็นศิลปะประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกันมาแต่อดีตเครื่องถมทุกชิ้นจะมีลายเป็นสิ่งตกแต่ง อาทิ ลายกนกเปลว ตกแต่งบนขัน เชี่ยนหมาก ถาดผลไม้ ชุดชา กาแฟ ลายใบเทศ ตกแต่งบนขัน ซองบุหรี่ กล่องเครื่องประดับ ลายประจำยาม ตกแต่งบน พานรอง ถาด กระเป๋า ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ตกแต่งบนตลับแป้ง กระเป๋า ลายกระจัง ตกแต่งบนพานรอง ขันน้ำ ฝาครอบแก้ว ลายก้านขด ตกแต่งบนกำไล กิ๊ฟ กระเป๋า เข็มหนีบเนคไท ลายบัวคว่ำบัวหงายตกแต่งบน พานรอง โถกรวดน้ำ ถาด ขันน้ำ ลายเม็ดบัวตกแต่งบนตลับแป้ง ขันน้ำ ฝาครอบแก้ว เข็มกลัด และภาพประกอบลาย ตกแต่งบนขัน ถาด กระเป๋า เข็มกลัด ที่เขี่ยบุหรี่