ประวัติเครื่องถมนคร ประวัติความเป็นมาของเครื่องถมนคร ถมเมืองนคร
ประวัติเครื่องถมเมืองนคร
ประเทศไทยจะคิดกรรมวิธีทำเครื่องถมขึ้นเอง หรือได้มาจากทางใด และเมื่อใดนั้น
หนังสือเรื่องประวัติศิลปกรรมไทยของนายตรี อมาตยกุล (พิมพ์ที่โรงพิพม์สมผลพ.ศ. ๒๔๙๓) กล่าวไว้ว่า
“ในกฎมณเฑียรบาลซึ่งตราขึ้นครั้งแผ่นดิน สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีแห่งหนึ่งกล่าวว่า
ขุนนางศักดินา ๑๐,๐๐๐ กินเมือง กินเจียดเงินถมยาดำรองตะลุ่ม ดังนี้เป็นต้น
จึงทำให้คิดว่า เครื่องถมดำนี้เป็นของไทย เราคิดทำได้ตั้งแต่ในสมัยอยุธยาตอนต้นแล้ว
หลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีก็คือ
ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ได้ส่งเครื่องถมไปเป็นบรรณาการแก่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งประเทศฝรั่งเศส
เป็นเครื่องถมดำลายอรหัน ซึ่งปรากฏในจดหมายเหตุฝรั่งว่า
เจ้าพระยาวิชาเยนทร์เป็นผู้ออกแบบ…” ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑๘
เรื่องจดหมายเหตุในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.๒๑๙๙-๒๒๓๑)
มีในเรื่องทูตานุทูตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ออกไปกรุงฝรั่งเศสครั้งสุดท้ายกล่าวไว้ว่า
ทูตานุทูตสยามไปถวายพระราชสาส์นต่อพระสันตปาปา กรุงโรมด้วย
และในการที่ราชทูตสยามเข้าเฝ้าพระสันตปาปา ณ กรุงโรมนั้น “…ราชทูตเชิญพานแว่นฟ้าทองคำรับราชศาส์น
ราชศาส์น … ม้วนบรรจุไว้ในผอบทองคำลงยาราชาว ดีอย่างใหญ่
ผอบนั้นตั้งอยู่ในหีบถมตะทองหีบถมตะทองตั้งอยู่บนพานแว่นฟ้าทองคำ
อุปทูตเชิญเครื่องมงคลราชบรรณการ …
ตรีทูตเชิญของถวายของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์… มีถุงเข้มขามพื้นเขียวหุ้ม ๑
ถุง ตั้งบนพานถมตะทอง สำหรับถวายโป๊ป…”
นอกจากนี้หมอชาวเยอรมันชื่อ เอนเยลเบิร์ตแกมป์เฟอร์
ซึ่งได้เข้ามาอยู่ในเมืองไทยในสมัยสมเด็จพระเพทราชาใน พ.ศ.๒๒๓๓ เป็นเวลา
๒๓ วัน ก็ได้เขียนบรรยายสภาพของกรุงศรีอยุธยาไว้ตอนหนึ่ง มีว่า “…ถนนสายกลาง
ซึ่งแล่นเหนือขึ้นไปยังพระราชวังนั้นมีผู้คนอยู่คับคั่งที่สุด
แน่ขนัดไปด้วย ร้านค้า ร้านช่างศิลปะและหัตถกรรมต่างๆ…” ดังนี้ก็อาจจะเป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า
อย่างน้อยในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.๑๙๙๑-๒๐๓๑) นั้น
ไทยก็มีเครื่องถมแล้ว และในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็รุ่งโรจน์
จนกระทั่งใช้เครื่องถมเป็นของกำนัลไปถวายเจ้านายต่างประเทศ “แม้ในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชาก็ยังทำกันอยู่หนาแน่นในกรุงศรีอยุธยา…”
เครื่องถมที่เรารู้จักกันแพร่หลายในเมืองไทย และแม้ในปัจจุบันเรารู้จักกันในนามถมเมืองนคร “ถมนคร” ที่เรียกกันเช่นนี้
เพราะแม้ในปัจจุบันที่นครศรีธรรมราชก็ยังมีการผลิตเครื่องถมอย่างมากมาย
เป็นการสืบต่อมาหลายชั่วอายุ
และเป็นสินค้าที่ขึ้นหน้าขึ้นตาอย่างหนึ่งของนครศรีธรรมราช
ประวัติของเครื่องถมในเมืองไทย มีผู้เชื่อกันว่า
ถมนครนั้นมีมานานแล้วในแหลมมลายู ไทยจะคิดขึ้นเอง หรือได้มาจากทางใด
ก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ เชื่อกันว่า เครื่องถมทำขึ้น ที่นครศรีธรรมราชก่อน
แล้วแพร่เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาอีกทีหนึ่ง ได้มีท่านผู้รู้หลายท่าน
ให้ข้อสันนิษฐานกันไปตามหลักฐาน หรือข้อมูลต่างๆ
ซึ่งจะขอรวบรวมนำมากล่าวไว้ให้เป็นแนวทางในการศึกษาค้นคว้า
เพื่อให้เกิดแนวความคิดกว้างขวาง จนสามารถที่จะวิเคราะห์จากเหตุผล
หรือเกิดแนวความคิดใหม่ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อไป ดังนี้
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสนพระทัยสืบค้น
และกล่าวถึงเรื่องเครื่องถมไว้หลายคราวด้วยกัน ในสาส์นสมเด็จฉบับคุรุสภา
ตีพิมพ์ ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๑๕ เล่ม ๑๘, ๒๖ และฉบับ ตีพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๐๔ เล่ม
๖ ทรงเป็นต้นแบบของนักการศึกษาเรื่องอดีตอย่างแท้จริง สมเด็จฯ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าว่า
“เมื่อวันที่ ๑๓ นายห้างบารเกรตต์มาเฝ้า
จะเอาตำนานการทำเครื่องถม เกล้ากระหม่อมก็ทราบน้อยเต็มที แต่แน่ใจว่าเป็นของมีมาแต่ครั้ง
กรุงเก่าแล้ว ทราบโดยสังเกตเห็นกระบวนลาย และรูปภาพมีชั้นฝีมือช่างกรุงเก่า แต่เรื่องราวใน
ชั้นกรุงเก่าไม่เคยได้ฟังที่ไหนเลย มาทราบเอาชั้น กรุงเทพฯ มีช่างตั้งทำอยู่ที่บ้านพานถม ตำบล
บางขุนพรหม แล้วก็ไปเกิดขึ้นในนครศรีธรรมราช อีกแห่งหนึ่ง” (สาส์นสมเด็จ เล่ม ๖ หน้า ๑๘๓)
“…หม่อมฉันเกิดอยากรู้ว่า ไทยเราจะได้วิชาทำเครื่องถมมาแต่ไหน เพียรค้นดูหนังสือเก่า พบกล่าวถึงเครื่องถมเป็นครั้งแรกเมื่อในรัชกาล
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ปรากฏอยู่ในบัญชี เครื่องบรรณาการซึ่งแปลเป็นภาษาฝรั่งว่า เจ้า-
พระยาวิชาเยนทร์ให้ทำไม้กางเขนด้วยเครื่องถม ส่งไปถวายโป๊ปอันหนึ่ง ส่อให้เห็นว่าไทยเห็นจะ
เพิ่งทำเครื่องถมได้ในสมัยนั้น นับถือกันว่า…เป็นของแปลก” (สาส์นสมเด็จ เล่ม ๑๘ หน้า ๒๑๕)
“เรื่องชั้นต้นของเครื่องถมไทยมีมาดังนี้ เครื่องถมไทยของเก่าที่เป็นฝีมือช่างครั้งกรุงศรี-
อยุธยามาทำขึ้นในรัชกาลที่ ๑ เช่น พานพระศรี อยู่ในตู้เครื่องถมของหลวง เป็นต้น หรือแม้
เครื่องถมที่ทำครั้งกรุงศรีอยุธยา ก็ยังมีตัวอย่างอยู่ สังเกตได้ด้วยชอบทำลายกนกไทยและมีพื้นถมมาก
เครื่องถมที่ทำในกรุงเทพฯ ครั้งรัชกาลที่ ๑ ยังทำดีมาก ฝีมือน่าจะมาทรามลงเมื่อรัชกาลที่ ๒ เป็น
หัวต่อที่เครื่องถมเมืองนครฯ จะเฟื่องฟู เข้าใจว่าเรื่องประวัติเครื่องถมชั้นหลังจะมิมาดังนี้” (สาส์นสมเด็จ เล่ม ๑๘ หน้า ๒๑๖)
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงกล่าวว่า “เครื่องถมนั้นชอบกล เป็นของที่ทำนานมาแล้ว ของเก่าเรียกกันว่า “ถมดำ″ เพราะลายห่างเห็นพื้นดำมาก
เกล้ากระหม่อมได้สังเกตเห็นของเก่าทีเดียว เป็นพื้นดำลายเงิน ถัดมามีตะทองสลับกับเงิน ถัดมา
อีกเป็นลายตะทองล้วน ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นทำพื้น แคบเข้า ลายถี่แน่นเข้า ตกมาถึงถมบางขุนพรหม
มีพื้นน้อยเต็มที มีลายเป็นทองอร่ามไปทั่วนั้น เข้าใจว่าเป็นด้วยคนสมัยหลังต้องการให้มีทองมาก
ถือกันว่าเป็นของดี ถมละคร ก็เป็นอย่างเดียวกับ ถมบางขุนพรหม…”
“เมื่อไปนครศรีธรรมราชคราวแรก (ครั้ง “โกบีโฮป”) ได้เห็นฝาบาตรที่หอพระสิหิงค์ เป็นถมชนิดที่เรียกกันว่า “ถมดำ″
ในลายเต็มไปด้วยรูปอรหัน (ไม่มี ต การันต์) เข้าใจว่า เอาอย่างเทวดาฝรั่ง
ซึ่งมีปีกมาทำ ถ้าความคิดคาดเช่นนั้นเป็นถูก ก็จะต้องเป็นของทำในรัชกาลที่
๒ เป็นอย่าง สูง ถ้าถูก ดังนั้นการทำ “ถมดำ″ ก็ได้ทำมาจน ถึงในรัชกาลที่ ๒” (สาส์นสมเด็จ เล่ม ๑๘ หน้า ๒๒๐-๒๒๑)
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีความเห็นเพิ่มเติมว่า ลายเครื่องถมเมืองนครศรีธรรมราชชอบทำลายอย่าง
รัชกาลที่ ๒ คือ เป็นกนกเทศ และมีรูปอรหัน ส่อให้เห็นว่า การทำเครื่องถมที่เมืองนคร เฟื่องฟูขึ้น
ครั้งเจ้าพระยานคร (น้อย) ในสมัยปลายรัชกาลที่ ๒ มาจนในรัชกาลที่ ๓
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงพระวินิจฉัยในเรื่อง
เครื่องถมว่า “ที่ว่าถมดำต้องทำพื้นมากนั้น ตรงกับความเป็นจริง ถมที่พระองค์ทรงเรียกว่า ถมบางขุนพรหมนั้น เกือบไม่มีพื้น จะเรียกว่า
ถมทองคู่กับถมดำ ก็ควรจะได้ ฝาบาตรพระสิหิงค์ ที่เมืองนครนั้น เป็นถมละครทำอย่างถมดำ…”
“ถมนคร” สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวถึงการทำเครื่องถมในเมืองไทยสมัยรัตนโกสินทร์ว่า
“ทำแต่ในกรุงเทพฯ กับที่เมืองนครศรีธรรมราช ๒ แห่งเท่านั้น คนนับถือกันว่า ฝีมือช่างถมเมืองนครฯ ทำดีกว่าในกรุงเทพฯ จนเครื่องถมที่ทำดี
มักเรียกกันว่า “ถมนคร” เลยมีคำกล่าวกันว่า ช่างถมเดิมมีแต่ที่เมืองนครฯ ชาวกรุงเทพฯ ไปเอาอย่างมาทำ สู้ฝีมือครูไม่ได้”
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จไปเมืองนครศรีธรรมราช
สมัยเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย (ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๓๕-พ.ศ. ๒๔๖๕)
มีพระประสงค์จะทอดพระเนตรการทำเครื่องถม ทรงพบว่า พวกช่างถม
ก็ทำตามบ้านเรือนของตน อย่างเดียวกับที่บ้านพานถมในกรุงเทพฯ
พระองค์สังเกตดู ช่างถมแต่งตัวเป็นแขกมลายูทั้งนั้น ที่เป็นคนไทยไม่มี
เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม) เมื่อยังเป็นพระยานครฯ
เล่าความหลังให้ฟัง จึงรู้เรื่องตำนานว่า “เมื่อตอนปลายรัชกาลที่
๒ เจ้าพระยานคร (น้อย) ยังเป็นพระยานครลงไปตีเมืองไทร ได้เชลยมลายูมามาก
จึงเลือกพวกเชลยให้หัดทำการช่างต่างๆ บรรพบุรุษของพวกนี้
ได้หัดเป็นช่างถมสืบมาจนทุกวันนี้…” (สาส์นสมเด็จ เล่ม ๑๘ หน้า ๑๘๓-๑๘๔)
“…ตามที่ตรัสเล่าถึงช่างถมที่นครศรีธรรมราช ทอดพระเนตรเห็นเป็นมลายูนั้น เกล้ากระหม่อม
ก็เคยไปดูมิวเซียมในประเทศมลายูมาหลายแห่ง พบเครื่องถมที่ทำในมลายูก็มีเหมือนกัน เป็นอัน
ว่ากระทำพ้องกัน กลัวจะเป็นต่างเอาอย่างเครื่อง บั้งกาหลีของอินเดียมาทำด้วยกันเพราะฉะนั้นที่ว่า
เจ้าพระยานคร (น้อย) เอาครูในกรุงเทพฯ ออก ไปสอนนั้นฟังยาก กลัวจะเป็นการสันนิษฐานไป
ตามความคิดเห็น…” (สาสน์สมเด็จ เล่ม ๑๘ หน้า ๒๐๗)
มูลเหตุที่คนนับถือกันว่า ฝีมือช่างถมเมืองนครฯ ทำดีกว่าในกรุงเทพฯ นั้น
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีข้อสังเกตไว้สองประการดังนี้
ประการที่ ๑
เป็นเพราะช่างถมเมืองนครฯ เจ้าพระยานคร (น้อย) กวดขันให้ทำให้ได้ดังใจ
แต่ช่างถมในกรุงเทพฯ ไม่มีใครบังคับกวดขัน ทำตามใจตนเอง
ประการที่ ๒
“ถมนคร” มีชิ้นใหญ่ๆ ก็เพราะเจ้าพระยานคร (น้อย) เป็นผู้มีเงินทุนให้ทำ
พวกร้านย่อยบ้านพานถมมีแต่ของเล็กๆ เพราะไม่มีเงินทุน และไม่มีโอกาส
“ถมนคร” ชิ้นใหญ่ๆ ที่พระองค์ทรงกล่าวถึง เป็นเครื่องราชูปโภค ทำด้วยถมมีของสำคัญ ๕ สิ่ง คือ
๑. พระราชยาน ซึ่งมีกระจังพระราชยาน ถมทำด้วยทอง เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี
(หนูพร้อม) อธิบายว่า การที่ทำราชยานถมถวายครั้งนี้ เอาช่างทองไปจากพระยาเพชรพิชัย เพราะเมืองนครศรีธรรมราชมีแต่ช่างถม
มีหลักฐานว่า เจ้าพระยานคร (น้อย) ทำถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
๒. พระแท่นเสด็จออกขุนนาง ทำถวาย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
๓. พนักเรือพระที่นั่งกราบ
๔. พระเก้าอี้ที่ใช้เป็นพระที่นั่งภัทรบิฐ
สองสิ่ง (ในข้อ ๓,๔) นี้พระองค์ทรงสันนิษฐานว่า เป็นของเจ้าพระยานคร (น้อยกลาง)
ทำถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะอนุโลมเป็นราชยานสิ่ง ๑ เป็นราชอาสน์สิ่ง ๑
ตามเค้าของที่เจ้าพระยานคร (น้อย) ผู้บิดา ได้ทำ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
๕. พระแท่นพุดตาน ที่ตั้งในท้องพระโรง กลางพระที่นั่งจักรีฯ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี
(หนูพร้อม) ทำขึ้น ดำรัสว่า “จะได้เป็นเกียรติสืบสกุล…”
(พระที่นั่งพุดตาน ปัจจุบันอยู่ที่พระที่นั่งจักรีฯ ในพระบรมมหาราชวัง ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
และในโอกาสเสด็จออกมหาสมาคมวันเฉลิมพระชนมพรรษา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้คณะบุคคลถวาย พระพรชัยมงคล)
พระราชยานถม และพระที่นั่งพุดตานถมนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานตรงกันว่า “กระจังพระราชยานถม และกระจังพระที่นั่งพุดตาน ทำด้วยทอง แต่ถึงกระจังเป็นทอง
ก็คงเป็นของเจ้าพระยานคร (น้อย) ทำถวาย จะผิดกันแต่ถ่ายแบบไปทำ ที่เมืองนครศรีธรรมราช
หรือเข้ามาทำในกรุงเทพฯ เท่านั้น…”
พระราชยานถมทำด้วยเงินเปรียบเหมือนบายศรีเงิน การสร้างพระราชยานด้วยของวิเศษ
เป็นการเฉลิมพระเกียรติประจำรัชกาล
ข้อความข้างต้นเป็นประวัติความเป็นมาของเครื่องถมสมัยรัตนโกสินทร์ อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ทรงแน่พระทัยว่า เครื่องถมมีมาแต่ครั้งกรุงเก่า (กรุงศรีอยุธยา)
ทราบโดยเห็นกระบวนลาย และรูปภาพมีชั้นฝีมือช่างกรุงเก่า คือ ชอบทำลายกนกไทย และมีพื้นถมมาก
ในสาส์นสมเด็จวันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ฉบับพิมพ์ในนิตยสารศิลปากร
ปีที่ ๑๓ เล่ม ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๒ หน้า ๒๐
ข้อ ๖ ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา ดำรงราชานุภาพ ทรงสืบค้นหลักฐานเอกสาร
มีข้อความตอนหนึ่งว่า
“เรื่องเครื่องถม หม่อมฉันพบหลักฐาน
ใหม่อีกแห่งหนึ่งในกฎมณเฑียรบาลว่า ขุนนาง ศักดินา ๑๐,๐๐๐ กินเมือง “กินเจียดเงินถมยาดำ
รองตะลุ่ม” ดูตรงกับเจียดรัชกาลที่ ๑ ถ้าเป็น แบบมาแต่ตั้งกฎมณเฑียรบาลครั้งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ราว พ.ศ. ๒๐๐๐
ก่อนรัชกาล สมเด็จพระนารายณ์ฯ ตำนานที่หม่อมฉันคาดดัง ได้ทูลไปก็ผิด แต่นึกว่าจะเพิ่มลงในกฎมณเฑียรบาล
เมื่อภายหลังก็ได้…”
เครื่องถมสมัยอยุธยา หลักฐานเอกสารดังกล่าวน่าจะเชื่อได้ว่า มีการทำเครื่องถม
ทั้งสองแห่ง คือ ในราชธานีศรีอยุธยาแห่งหนึ่ง และที่เมืองนครศรีธรรมราชอีกแห่งหนึ่ง
เครื่องถมของนครศรีธรรมราชได้ก้าวหน้ามีชื่อเสียงเรียกกันว่า “ถมนคร”
ทำสืบเนื่องกันมา จนในปัจจุบันนี้ ในสมัยที่มีเจ้านคร
เครื่องถมนี้ก็ได้รับการทำนุบำรุงเอาใจใส่ จากเจ้านครทั้งปวงเป็นอย่างยิ่ง
ส่วนทางกรุงศรีอยุธยา หลังจากรัชสมัยของ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
และสมเด็จพระเพทราชา ลงมาถึงธนบุรี ไม่ปรากฏความเฟื่องฟูของอุตสาหกรรมเครื่องถม
ในสมัยรัตนโกสินทร์มีปรากฏอยู่แต่เรื่องราวที่เกี่ยวกับเจ้าพระยานคร
(น้อย) แล้วก็ปรากฏการฟื้นฟู ในสมัยปัจจุบัน
จาก: สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๑ / เรื่องที่ ๔ เครื่องถม