ช่างถม งานศิลป์ชั้นสูงคู่เมืองนครศรีธรรมราช กำลังขาดคนสืบทอด
เครื่องถมเงิน ถมทอง เป็นงานศิลปะเชิงช่างฝีมือชั้นสูงที่ถูกสืบทอดมารุ่นต่อรุ่น นับแต่สมัยโบราณในดินแดนนครศรีธรรมราช ในอดีตผลิตภัณฑ์เครื่องถมเป็นงานศิลปะที่ถูกส่งเป็นเครื่องราชบรรณาการแก่ พระมหากษัตริย์ในต่างแดน สามารถสืบสาวเรื่องราวย้อนหลังไปได้มากกว่า 400 ปี เครื่องถมนครมีกำเนิดมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ราว พ.ศ.2061 แต่เรื่องที่มายังเห็นแย้งกันอยู่บ้างว่า ได้รับการถ่ายทอดมาจากชาวโปรตุเกส เพราะชาวโปรตุเกสเป็นชาติแรกที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำการค้าขายในราช อาณาจักรไทยได้ 4 เมือง คือ กรุงศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช ปัตตานี และมะริด สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงมีความเห็นว่า ชาวนครศรีธรรมราชได้รับรู้เรื่องเครื่องถมจากชาวอินเดีย ศาสตราจารย์วิศาลศิลปกรรมว่า ยาถมไทยมิได้รับต้นตำรับจากประเทศใด เกิดขึ้นในประเทศไทยโดยแท้ คือ เกิดที่นครศรีธรรมราช
|
ในอดีต เครื่องถมนั้นถือว่าเป็นของสูง เหมาะจะเป็นเครื่องราชูปโภคของกษัตริย์ หรืออย่างน้อยก็เป็นเครื่องยศของขุนนางชั้นสูง ทั้งยังใช้เป็นเครื่องราชบรรณาการสำหรับกษัตริย์ต่างประเทศด้วย ทั้งนี้ เพราะเครื่องถมแต่ละชิ้นนั้นเป็นเงินแท้ ทำด้วยกรรมวิธีที่สลับซับซ้อน ต้องใช้ความละเอียดประณีตมาก เท่าที่มีหลักฐานมีการใช้เครื่องถมเป็นเครื่องยศขุนนางมาตั้งแต่สมัยพระบรม ไตรโลกนาถ ในสมัยพระนารายณ์มหาราช ก็มีหลักฐานปรากฏว่ามีรับสั่งให้เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช จัดหาช่างถมที่มีฝีมือเข้าไปทำเครื่องถม ณ กรุงศรีอยุธยา เพื่อส่งไปบรรณาการแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และพระสันตะปาปาแห่งกรุงโรม แสดงว่าเครื่องถมนครนั้น มีชื่อเสียงมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลางเป็นอย่างน้อย
|
เครื่องถมเมืองนครรุ่งเรืองขึ้นมาอีกครั้งในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยานคร (น้อย) ได้นำพระเสลี่ยง หรือพระราชยานถม และพระแท่นถมสำหรับออกขุนนางขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวายในรัชสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยานคร (น้อยกลาง) ก็ได้นำเรือพระที่นั่งกราบถม กับพระเก้าอี้ถมซึ่งใช้เป็นพระที่นั่งถัทรบิฐขึ้นน้อมเกล้าฯถวาย ครั้นมาถึงรัชสมัยของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม) ทำพระแท่นพุดตานถมถวาย สำหรับตั้งในท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
ลักษณะของงานเครื่องถมเหล่านี้ จะเป็นศิลปะเชิงช่างสกุลนครศรีธรรมราชเท่านั้น ที่ไม่มีสกุลช่างฝีมือใดๆ ในโลกมาเสมอเหมือน จึงถือเป็นศิลปะที่ควรอนุรักษ์ ทั้งการอนุรักษ์งานศิลปะที่จะต้องสืบทอดรูปลักษณ์ที่สะท้อนถึงฝีมือของสกุล ช่างนครศรีธรรมราช และช่างฝีมือที่จะต้องถ่ายทอดศิลปะจากเชิงช่างชั้นสูงเหล่านี้ ให้อยู่บนชิ้นงาน หากขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไป งานถมเหล่านี้จะไม่สามารถอยู่รอดได้เป็นแน่แท้
|
“เครื่องถมเงิน ถมทองมีความโดดเด่นจากลวดลายที่วิจิตร รวมไปถึงตัวเนื้อเงินที่มีคุณค่า เครื่องถมเงินเป็นรูปพรรณที่ทำด้วยเงินแล้วลงยาถม เครื่องถมจะโดดเด่นเพราะมีรูปทรงดี มีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของเรา และเรามียาถมที่ไม่มีที่ไหนทำได้ เราหลอมเองทำเองได้ ที่ไหนก็ตามเมื่อเราไปดูปรากฏว่าไม่มีเหมือนที่นครศรีธรรมราช และเครื่องถมทองจะเป็นภูมิปัญญาที่เราต้องอนุรักษ์ไว้ เครื่องถมทองเราทำทองให้เป็นแป้งเปียกแล้วทาทับเครื่องเงินไว้เราเรียกว่าถม ทอง สิ่งเหล่านี้เป็นศิลปะประจำชาติไปแล้ว เป็นเอกลักษณ์ของประเทศมาตั้งแต่สมัยอยุธยา พบว่ามีเครื่องถมปรากฏไปเป็นเครื่องบรรณาการพระสันตะปาปา หรือสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย ในสมัยนั้น” ครูระไว สุดเฉลย ครูช่างเครื่องถมแห่งวิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช อธิบาย
ส่วนในยุคสมัยปัจจุบันนั้น สิ่งที่กำลังวิตกโดยเฉพาะในหมู่ช่างถม คือ การสืบทอดวิชาช่างกลับน้อยนักที่เด็กรุ่นใหม่จะสนใจในวิชานี้ และตั้งใจที่จะสืบทอดภูมิวิจิตรปัญญาของบรรพบุรุษชาวนครศรีธรรมราช แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะไม่เคยผ่านการเรียนรู้อย่างเป็นทางการ แต่เรียนรู้ด้วยใจรัก หรือแบบครูพักลักจำ เพาะบ่มฝีมือด้านศิลปะเชิงช่างด้วยตัวเองมากกว่า 20 ปี จนมีความเชี่ยวชาญสร้างสรรค์ชิ้นงานหาเลี้ยงชีพด้วยศิลปะการทำเครื่องถมมา ตลอดชีวิต “ผมเป็นห่วงมากจริงๆ เด็กสมัยนี้ที่จะสนใจงานเครื่องถมน้อยลงไปมาก อาจเป็นเพราะไม่มีแรงจูงใจในเรื่องของรายได้ ฐานะ ควรหาช่องทางในการสนับสนุน แต่ด้วยความสลับซับซ้อนของกระบวนการทำนั้นมันยาก ถ้าไม่มีใจรัก ไม่ชอบการเรียนรู้ ไม่รักงานศิลปะ ยากที่จะหาคนมาสืบทอด ต้องรักษาไม่ให้สูญหายไป รุ่นใหม่ๆ ที่เข้ามาตอนนี้นับว่าน้อยมาก” สมทรง แพรพระนาม ช่างฝีมือเครื่องถมย่านท่าช้าง อำเภอเมือง นครศรีธรรมราชแสดงความห่วงใย |
|||
เช่นเดียวกับ วันทนา อนุโต หรือ “ช่างแอ๊ด” ช่างเครื่องถมหญิงเพียงคนเดียวของเมืองนครศรีธรรมราช บอกว่า วิชาช่างเหล่านี้ถ้าใจไม่รักจะเป็นไปไม่ได้เลยกับการเรียนรู้ อย่างฉันไม่เคยเรียนอย่างเป็นทางการ หลังจากจบ ป.6 ได้ไปอาศัยอยู่กับผู้มีพระคุณทำงานเครื่องเงิน เครื่องถมมากกว่า 10 ปี จนออกมาทำธุรกิจนี้เอง และผลิตเครื่องถมเอง ทำเอง “เชื่อไหมว่าแม้แต่ลูกของฉัน เขายังไม่สนใจที่จะมาดูงาน หรือมาทำงานกับแม่เลย แม้แต่การนำเอาของไปขาย หลังจากแม่ทำเสร็จแล้ว เขายังไม่สนใจ สนใจที่จะเรียนในด้านอื่น ไม่ทราบเป็นเพราะอะไรที่เด็กรุ่นใหม่ๆ น้อยคนที่จะชอบ จะรักของเหล่านี้ ช่างฝีมือใหม่ๆ หาได้น้อยมาก จริงๆ แล้วรายได้ดีไม่ทราบเป็นเพราะอะไร บางคนจบมาโดยเฉพาะก็ไม่เอาไม่ทำ ส่วนช่างฝีมือชั้นครูในปัจจุบันคงเหลือเพียงไม่ถึง 5 คนแล้วกระมัง” ช่างแอ๊ดสะท้อน |
|||
ส่วน ครูนิคม นกอักษร อดีตครูช่างบอกว่า “ผมว่าเด็กมันคิดผิด ปัจจุบันนี่แหละมันคิดผิดเห่อ (ถอนหายใจ) วิชาที่แข่งขันกันสูงในวิชาเครื่องถม เป็นวิชาที่สำคัญกับบ้านเมืองมาก คนทำอยู่ไม่เคยว่างงาน งานมีมากทั้งๆ ที่วัสดุมีราคาสูงขึ้น ทั้งเนื้อเงิน เนื้อทอง เป็นหนึ่งในวิชาศิลปะเชิงช่างชั้นสูงวิชานี้ไม่ต้องเป็นห่วงว่าไม่มีงานทำ มีงานแน่นอน ขณะที่ผู้ค้าเครื่องเงิน และเครื่องถมเช่น นาบีน สุดวิไล เจ้าของร้าน “นาบีน” ย่านการค้าเครื่องถมถนนท่าช้าง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช บอกว่า เครื่องถมเป็นสินค้าที่มีความต้องการสูงมาก มีราคาแพง ราคามีตั้งแต่ชิ้นละไม่กี่ร้อยบาท ไปจนถึงหลายแสนบาท แม้ว่ามีราคาแพงตลาดยังคงต้องการเป็นอย่างมาก เพราะเป็นงานที่มีคุณค่าในตัวเองจากโลหะที่มีค่า เช่น เงิน และทอง และเมื่อผนวกกับศิลปะที่วิจิตรบรรจง มีความสลับซับซ้อนด้วยภูมิปัญญา ราคาแม้จะแพงจึงไม่ใช่ปัญหาสำหรับผู้ซื้อ “ปัจจุบัน งานที่ได้มาจากกระบวนการผลิตแบบอุตสาหกรรมมีมากขึ้น แม้ว่าราคาจะถูกลง แต่เป็นงานที่ไม่ได้มีคุณค่าเหมือนกับงานฝีมือที่ทำด้วยมือล้วนๆ แน่นอนว่าคุณค่าของงานมันต่างกันอยู่แล้ว เป็นห่วงมากเช่นกัน ห่วงว่างานถมชั้นสูงของเราจะหายไป ในอนาคตจะไม่มีคนสืบทอด ไม่มีช่างฝีมือจัดจ้านเช่นในอดีต” นาบีน แสดงความเป็นห่วง |
|||
ความหวาดวิตกในวงการช่างเครื่องถม เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิกฤตการณ์ของการขาดแคลนช่างฝีมือ เช่น ครอบครัวศิลปินแห่งชาติสาขาเครื่องถม เหลือเพียงสูตร “ยาถม” ที่เป็นสูตรลับเฉพาะประจำตระกูลผลิตออกมาขายเป็นหลัก ส่วนงานถมจากลูกหลานที่ออกมานั้นน้อยมาก ในทางกลับกัน พบว่าช่างถมชั้นสูงในตลาดฝีมือมีแนวโน้มที่จะเป็นวิกฤตการขาดแคลนในอนาคต แต่วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช กลับเป็นแหล่งฝึกฝนช่างมือถมชั้นสูงเพียงแห่งเดียวในโลกที่มีสาขาวิชานี้ เปิดสอน นายสุรพล โชติธรรมโม ผอ.วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช บอกว่า เราพยายามรณรงค์ให้เยาวชนรุ่นใหม่สนใจเครื่องถมมากขึ้น เป็นศิลปะโบราณ ตลอด 100 ปีที่ผ่านมา มีเพียงวิทยาลัยแห่งนี้เท่านั้นที่มีการเปิดการเรียนการสอน เราต้องการอนุรักษ์เครื่องถมนครศรีธรรมราชมาโดยตลอด เวลานี้มีนักเรียนเข้าเรียนใหม่ในชั้น ปวช.มี 11 คน ที่น่าดีใจคือ 3-4 คนในจำนวนนี้ ครอบครัวเขาทำเครื่องถม วิทยาลัยพยายามที่จะรักษาไว้ให้ได้ และแม้ว่าจะมีนักเรียนเข้าเรียนวิชานี้เพียง 1 คน เราจะยังเปิดสอน จะไม่มีการปิดการเรียนการสอนในสาขาวิชานี้อย่างเด็ดขาด “วิทยาลัยจะต้องรักษาวิชาช่างแขนงนี้ไว้ให้ได้ และคณาจารย์ในอดีตมาจนถึงปัจจุบันต่างอัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมวิทยาลัยเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2508 ความว่า “จงรักษาศิลปะของชาติอันนี้ไว้ให้ดี” ข้อความพระราชดำรัสนี้ ได้ถูกบันทึกไว้ในแผ่นป้ายขนาดใหญ่ ติดตั้งอยู่ในแผนกวิชาเครื่องถม จะเป็นแนวปฏิบัติของชาวศิลปหัตถกรรมทุกคน” ผู้อำนวยการวิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราชแห่งนี้กล่าวทิ้งท้าย โดย…นักข่าวชายขอบ ASTVผู้จัดการออนไลน์ 3 กรกฎาคม 2556 |