ขั้นตอนการทำ ถมทอง เครื่องถมเมืองนคร

วิธีการทำถมทอง เครื่องถมเมืองนคร nielloware (Krueng Thom)
สำหรับการทำเครื่องถม การทำถมทองหรือถมตะทอง มีกระบวนการพิเศษออกไปดังนี้
1.  การเตรียมวัสดุถมทอง   ใช้โลหะเงินที่ขัดผิวไว้เรียบร้อยแล้วแต่ยังไม่แกะแร เตรียมเฉพาะถึงขั้น ทำความสะอาดผิวตามกระบวนการของถมเงิน
2. การเตรียมทองเปียก ( เนื้อทอง) ใช้ทองคำบริสุทธิ์อย่างน้อยร้อยละ 99 กะจำนวนที่จะใช้แต่ละครั้งให้พอดี รีดหรือทุบให้บางที่สุดเท่าที่จะทำได้ หั่นให้เป็นฝอยแล้วเอาเข้าเครื่องบดจนเกือบเป็นผงทรายล้างให้สะอาด เท ปรอท บริสุทธิ์ลงไปคลุกเคล้ากับผงทองนี้ในครกหินที่เตรียมไว้ บดกวนจนผงทองกับปรอทละลายกลายเป็นเนื้อเดียวกัน จนกระทั่งข้นและเหนียวซึ่งเรียกว่า “ ทองเปียก ” เก็บไว้ใช้ในขั้นตอนต่อไป
3. การทาทองหรือตะทอง นำผลิตภัณฑ์ถมเงินที่เตรียมเอาไว้ตามข้อที่ 1 มาเช็ดถูให้สะอาดด้วยน้ำมะกรูด มะนาว หรือน้ำลูกประคำดีควาย เพื่อขจัดไขมันและไฝฝ้าต่างๆ บนผิวเงินให้หมดจดจริงๆ แล้วใช้สำลีชุบทองเปียกที่เตรียมไว้ตามข้อ 2 ถูทาให้ทั่วเฉพาะตรงส่วนที่เป็นพื้นเงินหรือลวดลายบนวัตถุถมเงินที่เตรียมไว้ตามข้อ 1 แล้วนำวัตถุนั้นไปตากแดดหรืออบใช้ความร้อนอ่อนๆ บนเตาประมาร 3-4 ครั้ง ครั้งสุดท้าย  อบให้ได้ความร้อนสูงกว่าเดิมจนรูปพรรณนั้นร้อนจัด (แต่อย่าให้ร้อนจนเกินไปจนเนื้อถมละลาย ) จนปรอท ระเหยออกหมดเหลือแต่เนื้อทองเคลือบติดแน่นกับเนื้อเงิน เสร็จงานในขั้นตอนนี้ ทางช่างเรียกว่า “ การรมทอง ”
4. การสลักหรือเพลาลาย   รูปพรรณจากข้อ 3 นั้นยังไม่บริสุทธิ์เพราะภาพหรือลวดลายต่างๆยังมีลายเส้นไม่ชัดเจน ช่างจึงต้องสลักลวดลายเพิ่มเติมให้เหมาะสมและงดงามขึ้นเรียกว่าแกะแร ในการทำเครื่องถมเงิน “ การแกะสลัก ” หรือ “ เพลาลาย ” สำหรับการทำถมตะทอง หลังจากนั้นก็นำรูปพรรณไปทำความสะอาดและชักเงาอีกครั้งหนึ่ง ก็เป็นขั้นตอนสุดท้ายของ ถมตะทองหรือเรียกกันสั้นๆว่า “ ถมทอง
คุณภาพของถมทอง  ต้องใช้เนื้อทองคำบริสุทธิ์ทาเคลือบ ผิวเงินและต้องมีความประณีตมาก ต้นทุนการผลิตสูงกว่าถมเงิน แต่มีความทนทานดีกว่า เนื้อทองจะเคลือบผิวเงินแน่นอยู่ตลอดไม่ลอกหลุด ต่างกับการใช้เครื่องชุบทองที่เรียกว่า “ กะไหล่ ” ซึ่ง เปรียบเทียบกันไม่ได้ การทาทองหรือการตะทองก็เป็นศิลปะที่ต้องอาศัยความชำนาญเป็นอย่างดีของช่างที่มีฝีมือจริงๆ

credit-นครหัตกรรม

ถมทอง
ถมทอง เครื่องถมเมืองนคร