นร.ช่างถมนคร

ตำนานช่างถมเมืองนคร – ถมนคร หัตถกรรมที่เชิดหน้าชูตาของเมืองนคร

 ช่างถมนครศรีธรรมราช ก็มีหลักฐานว่าตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงมีรับสั่งให้เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชจัดหาช่างถมฝีมือดีที่สุดของจังหวัดส่งไปยังกรุงศรีอยุธยา เพื่อทำ ไม้กางเขนถม ส่งไปถวายสัตปาปาที่กรุงโรมประเทศอิตาลี และเป็นช่างชุดเดียวกับที่ทำเครื่องถมส่งไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งประเทศฝรั่งเศส ช่างกลุ่มนี้พำนักอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาตลอดไปจนเสียชีวิต

วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช

มีลูกหลานรับมรดกตกทอดมา และต่อมาได้โยกย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงเทพมหานคร ได้ฟื้นฟูงานเครื่องถมนครขึ้นมาเป็นธุรกิจที่ทำการค้าขายกับต่างประเทศด้วย รวบรวมช่างถมนครศรีธรรมราช5-6 คนเข้าทำกิจการอุตสาหกรรมเครื่องถมใช้ชื่อว่า “ไทยนคร” กิจการต่าง ๆ เจริญรุดหน้ามาจนปัจจุบันนี้มีช่างผลิดเครื่องถมเครื่องเงินไทยเพื่อนำส่งจำหน่ายไปต่างประเทศ ประมาณ 100 คน นอกจากนี้การทำเครื่องถมนครในกรุงเทพฯ มีการทำกันมากพอสมควรราว ๆ สมัยต้นรัตนโกสินทร์ มีหมู่บ้านแห่งหนึ่งเรียกชื่อว่า “บ้านถม” หรือ “บ้านพานถม” อยู่ใกล้ ๆ สะพานเฉลิมวันชาติ ถนนพระสุเมรุชาวบ้านในกลุ่มนี้ทำพานถม ขันถมขาย แต่ไม่มีหลักฐานว่าทำกันมาตั้งแต่เมื่อไร แต่มีผู้สูงอายุคนหนึ่งเล่าว่าชาวบ้านใน “บ้านพานถม” นี้อพยบมาจากจังหวัดนครศรีธรรมราช ในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้ประกอบอาชีพทำพานถม ขันถม เป็นแบบเครื่องถมนคร แต่ฝีมือไม่อยู่ในขั้นดีเยี่ยม

ใน พ.ศ.2443 เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ได้ฟื้นฟูส่งเสริมศิลปหัตถกรรมเครื่องถมนครศรีธรรมราชขึ้นในกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2456 ได้เปิดแผนกช่างถมขึ้นเป็นกองและแผนกหนึ่งใน “โรงเรียนเพาะช่าง” ได้รับความร่วมมือจากพระยาเพชรปราณี เจ้ากรมอำเภอ กระทรวงนครบาลในขณะนั้นจัดหาตำรา “ถมนคร” มาใช้สอนในโรงเรียน เพาะช่าง ในแผนกช่างถม สำเร็จทำการทดลองใช้ตำราเล่มนั้นโดยเริ่มให้ศาสตราจารย์หลวงวิศาลศิลปกรรม (เชื้อ ปัทมจินดา) เป็นผู้รับหน้าที่ทดลองใช้ และเรียกขุนปราณีถมพิจ (หยุบ จิตตะกิตติ) เป็นช่างถมอยู่บ้านพานถมให้เข้ามารับราชการเป็นผู้สอนร่วมกับขุนประดิษฐ์ถมการ (รื่น ทัพวัฒน์) วิชาเครื่องถมนี้ได้รับการส่งเสริมโดยให้มีการเรียนการสอนในโรงเรียนเพาะช่างจนถึง พ.ศ.2480 ก็ระงับไป

ส่วนทางเมืองนครศรีธรรมราช พ.ศ.2456  ได้ตั้งโรงเรียนช่างถมของจังหวัดนครศรีธรรมราชขึ้นโดยพระรัตนธัชมุนีศรีธรรมราช(ม่วง รัตนธัชโช) เจ้าอาวาสวัดท่าโพธิ์ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช หรือชาวนครศรีธรรมราชเรียก ท่านว่า “เจ้าคุณท่าโพธิ์” เป็นผู้ริเริ่มในพ.ศ.2456 ทำให้กิจการเครื่องถมนครในขณะนั้นซึ่งซบเซาอยู่ก็ได้ตื่นตัวขึ้น ท่านสละเงินนิตยภัตที่ได้รับพระราชทานจ่ายให้เป็นเงินเดือนแก่ครูผู้สอน กิจการของโรงเรียนได้ดำเนินมาหลายปี จนกระทั้งกระทรวงศึกษาธิการเห็นความสำคัญของศิลปหัตถกรรมด้านนี้ขึ้น จึงรับโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนของรัฐ พัฒนายกระดับเป็นโรงเรียนช่างโลหะรูปพรรณของจังหวัดนครศรีธรรมราชในระยะต่อมา จนปัจจุบันนี้มีฐานะเป็นวิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช

จากการทำถมนครสืบต่อ ๆ กันมาในหมู่ช่างถม และจากความพยายามของรัฐที่จะเปิดสอนวิชานี้ จึงเชื่อได้ว่า ถมนคร จะยังเป็นหัตถกรรมที่เชิดหน้าชูตาของเมืองนครได้สืบไป

credit- www.tungsong.com