ขั้นตอนการทำเครื่องถม มี 6 ขั้นตอนคือ

          1. การทำน้ำยาถม มีส่วนผสมของโลหะ 3 ชนิด คือ ตะกั่ว ทองแดง เงิน หลอมรวมกันในเบ้าหลอม ให้เนื้อโลหะผสมเข้ากันเป็นอย่างดี อัตราส่วนผสมและเวลาที่หลอมของช่างแต่ละคน จะเป็นความลับแตกต่างกันไปตามสูตรที่เป็นมรดกที่ถูกถ่ายทอดต่อกันมา หลังจากนั้นซัดด้วยกำมะถันเหลืองให้โลหะผสมขึ้นสีดำใส ไม่มีฟอง ทิ้งไว้ให้แห้ง แล้วนำไปบดจนละเอียด เรียกว่า “เนื้อถม” หรือ “น้ำยาถม” น้ำยาถมที่ดีจะมีสีดำขึ้นเงาเหลือบสีเงิน เนื้อคล้ายโลหะชนิดหนึ่ง

          2. การเคาะขึ้นรูปพรรณ คือการนำแผ่นเงินมาทำเป็นรูปทรงตามต้องการ รูปทรงของเครื่องถม มี 6 แบบ คือ แบบกลม เช่น แหวน กำไล ขันน้ำ ตลับแป้ง แบบเหลี่ยม เช่น กระเป๋าถือ หีบบุหรี่ ซองบุหรี่ กรอบรูป แบบกระบอก มีลักษณะเป็นแท่งกลม แต่กลวง เช่น แก้วน้ำ ถ้ำยาดม แบบรี กำหนดรูปแบบมีส่วนเรียวและส่วนโค้งมนประกอบเป็นส่วนใหญ่ เช่น เข็มหนีบเนคไท กิ๊ฟติดผม ถาดรองแก้ว แบบผสม มีลักษณะผสมผสานหลายรูปทรง โดยนำรูปทรงต่างๆ มารวมกัน เช่น โถกรวดน้ำ ทัพพี กาน้ำชา พานรอง และรูปแบบ อื่นๆ เป็นรูปแบบเฉพาะตัว ของผู้ผลิต เช่น สร้อยคอ สร้อยข้อมือ รูปแบบของเครื่องรูปทรงจะงดงามเพียงไร อยู่ที่ฝีมือของช่างผู้ออกแบบ เมื่อขึ้นรูปทรงแล้วจะขัดผิวโลหะให้เรียบด้วยกระดาษทรายน้ำ

          3. การเขียนและแกะสลักลาย หลังจากการขึ้นรูปเป็นภาชนะหรือเครื่องประดับแล้ว ผิวของผลิตภัณฑ์จะมีลักษณะเกลี้ยง การแกะสลักจะเขียนลวดลายทั้งหมดด้วยหมึกก่อน แล้วจึงสลักลายให้เป็นร่องลึกด้วยสิ่วหรือกรดตามลวดลายที่เขียนไว้ บริเวณที่แกะสลักเป็นร่องคือบริเวณที่จะใส่น้ำยาถมลาย ลายที่นิยมได้แก่ ลายไทย เช่น ลายกยก กระจัง ดอกไม้ เป็นต้น

          4. การถมลายคือการนำภาชนะที่ได้แกะสลักหรือกัดลายเรียบร้อยแล้ว นำไปเคลือบด้วยยาถม โดยการใส่น้ำยาถมต้องใส่ให้เต็มส่วนที่ได้แกะสลักไว้ เกลี่ยให้เสมอกัน และเป่าให้ความร้อนด้วย เครื่อง “เป่าแล่น” ความร้อนจะทำให้น้ำยาที่ถมละลายไหลไปตามร่องที่ได้แกะสลักไว้เกาะติดกับ โลหะเงิน ทิ้งไว้ให้เย็น หลังจากนั้นใช้ตะใบหรือกระดาษทรายแต่งผิวภาชนะที่น้ำยาถมไหลไปบน ส่วนที่ไม่ต้องการออกให้หมด จะปรากฏลายที่ชัดเจน “การลงถม” ถือเป็นหัวใจสำคัญของเครื่องถม เครื่องถมชั้นดี เนื้อถมต้องเคลือบติดกับเนื้อเงิน(ผิวภาชนะ) ในลักษณะเป็นก้อนเนื้อเดียวกัน ต้องไม่ กระเทาหรือหลุดง่าย จึงขึ้นอยู่กับความชำนาญของช่างเป็นพิเศษ

          5. การปรับแต่งรูป ผลิตภัณฑ์ในขณะที่ลงน้ำยาถมนั้น ต้องถูกความร้อนสูงอยู่เป็นเวลานาน ฉะนั้นรูปลักษณะของผลิตภัณฑ์อาจบิดเบี้ยว เพราะเหตุนี้เมื่อเสร็จจากการลงถมแล้ว จำเป็นต้องส่งผลิตภัณฑ์ที่ลงถมแล้วนั้นไปให้ “ช่างรูป” ตบแต่งรูปให้คงสภาพเดิม

          6. การขัดผิวและแต่งลาย ภาชนะซึ่งเป็นผิวของโลหะเมื่อถูกความร้อน อาจจะขรุขระหยาบเป็นเม็ดด้วยน้ำยาถมหรือน้ำ ต้องขัดด้วยกระดาษทรายให้ผิวโลหะเรียบสะอาดแล้วขัดซ้ำด้วยถ่านไม้เนื้ออ่อนให้ผิวขึ้นเงา หากลวดลายที่ปรากฏแข็งไม่อ่อนช้อยช่างแกะจะแกะต่อเติมลายเส้นเบา ๆ บนโลหะได้อีก เรียกการแกะนี้ว่า “แกะแร” แล้วขัดให้ขึ้นเงาเป็นมันด้วยผ้านุ่ม ก่อนบรรจุหีบห่อหรือใช้สอยต่อไป

แท่งยาถมตอกลวดลาย งานถม
นักเรียนช่างถมนคร เครื่องมือช่างถมนคร
ตกแต่งความเรียบร้อยก่อนลงยาถม การลงยาถม

ขั้นตอนการผลิต

กรรมวิธีในการผลิตเครื่องถมนั้นต้องอาศัยความละเอียดอ่อน และความพยายามเป็นอย่างมากช่างที่ดีจะต้องมีลักษณะพิเศษในตัวเอจากมีพรสวรรค์แล้ว ช่างถมที่ดีโบราณท่านว่าควรใจสู้ จึงสามารถจับเครื่องมือแต่ละชนิดมาสร้างสรรค์เป็นลวดลายบนเครื่องถมได้ ช่างถมที่ดีโบราณท่านว่าควรเป็นสหช่างซึ่งประกอบไปด้วย

ช่างขึ้นรูป ช่างแขนงนี้มาจากช่างเงิน ช่างทองที่จำทำรูปพรรณให้ได้สัดส่วน

ช่างแกะสลัก คือ ผู้บรรจงสลักเสลาลวดลายให้อ่อนช้อยงดงามตามแบบนิยม

ช่างถม เป็นช่างที่ต้องการความชำนาญในการผสมและลงยาถมบนพื้นที่ซึ่งแกะสลักลวดลายไว้แล้ว

1. การขึ้นรูป ต้องใช้เนื้อเงินไม่ต่ำกว่า 95 % มาหลอมให้เป็นแท่งหรือแผ่น จากนั้นนำมาแผ่หรือรีดให้ได้ขนาดและความยาวตามต้องการ จากนั้นนำแผ่นเงินมาตีด้วยฆ้องสลับกับการให้ความร้อนใหรูปทรงความโค้งรวมเข้าหรือขยายออกตามต้องการ

2. การออกแบบลวดลาย ด้วยการร่างแบบด้วยดินสอบนภาชนะ

3. สลักลาย ด้วยสิ่วสลักให้พื้นของลายลึกต่ำลงไป

4. การลงยาถม ให้ไฟเป่าแล่นเกลี้ยงเนื้อยาถมลงบนเครื่องเงินที่สลักลายไว้เรียบร้อยแล้วให้สม่ำเสมอทั่วกันทิ้งไว้ให้เย็นแล้วใช้ตะไบถูเอายาถมส่วนที่เกินออก ขัดจนได้ที่ ลวดลายสีชัดบนพื้นน้ำยาถมสีดำ “ ถมเงิน ”

5. ถมทอง ต้องเปียทองโดยใช้ทองคำบริสุทธิ์หรือทองคำพิเศษ นำมารีดให้เป็นแผ่นบาง ๆ ตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ ผสมกับปรอท บดให้ละเอียด มาทาบนเครื่องถมเงินให้ทั่วสม่ำเสมอประมาณ 2-3 ครั้ง ไล่ปรอทด้วยความร้อนก็จะเหลืองเนื้อทองติดแน่น

6. เพลาลาย ใช้สิ่งสำหรับเพรา เพราให้เกิดแสงเงาสะท้อนแวววาวพลิ้วไหว