นายเห้ง โสภาพงศ์
ประวัติ : นายเห้ง โสภาพงศ์ ที่บ้านหน้าวัดพระบรมธาตุ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรของนายชี และนางนุ้ย โสภาพงศ์ อายุ 8 ปีเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาโรงเรียนพระเสื้อเมืองในสมัยนั้น แต่ปัจจุบันคือโรงเรียนวัดพระมหาธาตุ และได้ออกไปเรียน รร.ช่างถม หน้าวัดวังตะวันออก 3 ปี ซึ่งพัฒนาเป็นวิทยาลัยหัตถกรรมนครศรีธรรมราช ในปัจจุบัน จบแล้วก็ฝึกงานต่อผลงานที่ทำได้ส่งให้ทางโรงเรียนจัดจำหน่าย มีกำไรโรงเรียนก็แบ่งสรรให้ นายเห้งฝึกงานและส่งผลงานให้โรงเรียนช่างถมอยู่ราว 20 ปี ช่วงเวลาดังกล่าวได้ครูช่างถมที่สำคัญ 2 คนเป็นผู้ฝึกสอน คือครูกลั่น จันทรังษี และครูเปรม โดยทำงานประจำอยู่ที่ร้านสุพจน์(เป็นโรงงานและร้านที่ผลิตและจำหน่ายเครื่องถม ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดนครศรีธรรมราช ) ณ ที่นี้ นายเห้ง ได้รับการฝึกทำเครื่องถมเป็นพิเศษจาก นายรุ่ง สินธุรงค์ ช่างถมฝีมือเยี่ยมในยุคนั้น จนทำให้นายเห้ง โสภาพงศ์ มีฝีมือเข้าขั้นเป็นช่างถมยอดเยี่ยมของเมืองนครศรีธรรมราชตามไปด้วย
ผลงานหรือเกียรติคุณที่ได้รับ : ผลงานที่นายเห้ง โสภาพงศ์ มีความภาคภูมิใจมากที่สุดในช่วงปี พ.ศ. 2502 คือชุดน้ำชาถมทอง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสั่งให้จัดทำขึ้นเพื่อไปพระราชทานแก่ประธานาธิบดีไอเซนอางค์ แห่งสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2503 นั้นเอง นายเห้ง โสภาพงศ์ ได้รับการยกย่องเป็นช่างถมฝีมือเยี่ยมของจังหวัดนครศรีธรรมราช ผลงานอันปราณีตและมีการพัฒนาอยู่เสมอ ซึ่งด้วยเหตุนี้เอง คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จึงได้ประกาศยกย่องให้นายเห้ง โสภาพงศ์ เป็นศิลปินพื้นบ้านดีเด่น ประจำปี 2529 สาขาเครื่องถม ต่อมาในวันที่ 8 มกราคม พ.ศ.2530 คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติก็ได้ยกย่องให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2529 สาขาทัศนศิลป์ (เครื่องถม) เข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ปัจจุบัน นายเห้ง โสภาพงศ์ถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจวาย เมื่อ 23 มิถุนายน พ.ศ.2542 รวมอายุ 88 ปี